หลังจากที่เรามีการจัดการโครงสร้างองค์การออกมาได้รูปแบบที่เหมาะสมแล้ว ในที่สุดเราก็จะต้องได้เห็นว่าองค์การของเรามีตำแหน่งงานใดเกิดขึ้นบ้าง และมีความต้องการกำลังคนเพื่อเข้าร่วมในตำแหน่งงานนั้นๆ เป็นจำนวนเท่าไร และก็มาถึงขั้นตอนของการจัดหาคนมาลงให้เหมาะสมตามตำแหน่งงานนั้นๆ ก่อนที่จะดำเนินการสรรหา คัดเลือกเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผลตรงตามที่องค์การปรารถนาได้นั้น
ลำดับแรก ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ต้องรับผิดชอบทำในตำแหน่งนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนเสียก่อน นั่นคือต้องมีการทำ คำอธิบายงาน (Job description) ตามตำแหน่งออกมาอย่างละเอียด
ลำดับต่อไปต้องระบุคุณสมบัติของคนที่คิดว่าจะสามารถทำงานตามที่คำอธิบายงานระบุได้เป็นอย่างดี คุณสมบัติที่สำคัญได้แก่ เพศ อายุ วุฒิการศึกษา สาขาที่สำเร็จการศึกษา ประสบการณ์ ความชำนาญ ความสามารถเฉพาะ หรือความสามารถพิเศษ เป็นต้น
ก่อนจะเข้าสู่ระบบการคัดเลือก ที่จริงต้องกล่าวถึงวิธีการสรรหาบุคลากรก่อน เพราะการใช้วิธีการสรรหาที่ถูกต้อง ก็ทำให้เรามุ่งเข้าสู่บุคลากรตามที่เราปรารถนาได้โดยง่ายและตรงเป้า เป็นขั้นพื้นฐานที่จะได้พบกับบุคลากรที่ดีต่อไป วิธีการในการสรรหาบุคลากรก็ทำได้หลายวิธีได้แก่
1. สรรหาบุคคลจากภายในองค์การ การสรรหาโดยวิธีนี้นับว่าเป็นผลดีในด้านที่จะทำนุบำรุง และส่งเสริมกำลังใจในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในองค์การ เพราะจะทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน และมีความจงรักภักดีต่อองค์การมากขึ้น ตามวิธีการนี้คือ เลือกสรรด้วยวิธีคัดเลือกหรือเลื่อนชั้นบุคคลในองค์การ โดยพิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเหมาะสม วิธีการเช่นนี้มีกระทำอยู่ทั่วไปในวงราชการ เช่น การสอบเลื่อนชั้น จากชั้นจัตวาเป็นชั้นตรีหรือจากชั้นตรีเป็นชั้นโท และ/หรือจากชั้นโทเป็นชั้นเอก เป็นต้น
2. สรรหาบุคคลจากภายนอกองค์การ วิธีการนี้เป็นการสรรหาบุคคลจากที่อื่นเข้ามาปฏิบัติงานในองค์การ และวิธีนี้อาจจะทำได้อย่างกว้างขวาง เช่น การรับโอนข้าราชการจากหน่วยสังกัดอื่นที่มีความรู้ความสามารถดี เข้ามาปฏิบัติงานในองค์การของเราเอง วิธีการเช่นนี้ เจ้าสังกัดเดิมมักไม่เต็มใจที่จะให้โอนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถดีไปปฏิบัติงาน อย่างไรก็ดี วิธีการนี้หากผู้ที่จะโอนสามารถได้เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น ผู้บังคับบัญชาก็มักจะยินยอมให้โอน เพราะเป็นความก้าวหน้าของผู้นั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น